วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2552

นครปฐม



" ส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวงาม ข้าวหลามหวานมันสนามจันทร์งามล้น พุทธมณฑลคู่ธานี พระปฐมเจดีย์เสียดฟ้า "


ข้อมูลทั่วไป :
นครปฐมจังหวัดเล็กๆ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ด้วยระยะทางประมาณ 56 กิโลเมตร เป็นเมืองแห่งปูชนียสถานเก่าแก่ที่สำคัญคือ “พระปฐมเจดีย์” ซึ่งนับเป็นร่องรอยแห่งแรก ของการเผยแพร่อารยธรรมพุทธศาสนา เข้ามาในประเทศไทย ทั้งยังเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ มากมายไปด้วยผลไม้ และอาหารขึ้นชื่อนานาชนิด
________________________________________

ประวัติความเป็นมา :
เมืองนครปฐม เดิมตั้งอยู่ริมทะเลเคยเป็นเมืองเก่าแห่งหนึ่งซึ่งเจริญรุ่งเรืองมาก ในสมัยทวาราวดี เพราะเป็นราชธานีที่สำคัญ มีหลักฐานเชื่อว่า ศาสนาพุทธและอารยธรรม จากประเทศอินเดีย เผยแพร่เข้ามาที่นครปฐม เป็นแห่งแรก โดยสันนิษฐาน จากองค์พระปฐมเจดีย์ และซากโบราณวัตถุต่างๆ ที่ค้นพบที่จังหวัดนครปฐม นครปฐม จึงเป็นศูนย์กลาง ของความเจริญ มีชนชาติต่างๆ อพยพ เข้ามาตั้งถิ่นฐาน อยู่เป็นจำนวนมาก ต่อมาเกิดความแห้งแล้งขึ้น ในเมืองนครปฐม เพราะกระแสน้ำ ที่ไหลผ่านตัวเมือง เปลี่ยนเส้นทาง ประชาชนจึงอพยพไปตั้งหลักแหล่ง อยู่ริมน้ำ และสร้างเมืองใหม่ขึ้น ชื่อว่า “นครชัยศรี” หรือ “ศิริชัย” นครปฐมจึงกลายเป็นเมืองร้างมาหลายร้อยปี
จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่ยังทรงผนวชได้เสด็จธุดงค์ไปพบพระปฐมเจดีย์และ ทรงเห็นว่าเป็นเจดีย์องค์ใหญ่ ไม่มีที่ไหนจะเทียบเท่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ก่อเจดีย์แบบลังกา ครอบเจดีย์องค์เดิมไว้ ทรงปฏิสังขรณ์สิ่งต่าง ๆ ในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ ให้มีสภาพดี และโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองเจดีย์บูชา เพื่อให้การคมนาคมสะดวกขึ้น ต่อมา ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เริ่มทำทางรถไฟสายใต้ แต่ตอนนั้น เมืองนครปฐม ยังเป็นป่ารกอยู่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองจากตำบลท่านา อำเภอนครชัยศรี มาตั้งที่บริเวณพระปฐมเจดีย์ เหมือนที่เคยตั้งมาแล้วในสมัยโบราณ เมืองนครปฐม จึงอยู่ต่อมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้น ที่ตำบลสนามจันทร์ เป็นที่เสด็จแปรพระราชฐาน และ โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนน เพิ่มขึ้นอีกหลายสาย ให้สร้างสะพานใหญ่ ข้ามคลองเจดีย์บูชา ขึ้น ทรงพระราชทานนามว่า “สะพานเจริญศรัทธา” ต่อมาให้เปลี่ยนชื่อเมือง “นครชัยศรี” เป็น “นครปฐม” แต่ชื่อมณฑลยังคงเรียกว่า “มณฑลนครชัยศรี” อยู่ จนกระทั่งยุบเลิก ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปัจจุบัน นครชัยศรี มีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งขึ้นอยู่กับจังหวัดนครปฐม
________________________________________


อาณาเขตและการปกครอง :
จังหวัดนครปฐม มีเนื้อที่ประมาณ 2,168.327 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,355,204 ไร่ แบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ คือ อำเภอเมืองนครปฐม อำเภอพุทธมณฑล อำเภอสามพราน อำเภอนครชัยศรี อำเภอบางเลน อำเภอกำแพงแสน และอำเภอดอนตูม
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดสุพรรณบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดสมุทรสาคร
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดนนทบุรีและกรุงเทพฯ
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดราชบุรี
พื้นที่ทั่วไปของจังหวัดนครปฐมเป็นที่ราบลุ่ม ไม่มีภูเขา มีที่ดอนเฉพาะทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอเมืองและอำเภอกำแพงแสนเท่านั้น ส่วนที่ราบลุ่มบริเวณลุ่มน้ำท่าจีน (แม่น้ำนครชัยศรี) ได้แก่ ท้องที่อำเภอนครชัยศรี อำเภอสามพราน และอำเภอบางเลน เป็นที่อุดมสมบูรณ์ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรรม การทำสวน ทำไร่ และสวนผลไม้ โดยเฉพาะการปลูกส้มโอ ซึ่งนำชื่อเสียงมาสู่จังหวัดนครปฐมจนได้ชื่อว่าเป็นเมืองส้มโอหวาน
ส่วนที่ราบลุ่มบริเวณลุ่มน้ำท่าจีน (แม่น้ำนครชัยศรี) ได้แก่ ท้องที่อำเภอนครชัยศรี อำเภอสามพราน และอำเภอบางเลน เป็นที่อุดมสมบูรณ์ มีการประกอบการเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์
________________________________________

การเดินทาง :
ทางรถยนต์
จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายเก่า สายถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) ผ่านอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ สามพราน ไปจนถึงจังหวัดนครปฐม หรือ เส้นทางสายใหม่ จากกรุงเทพฯ ถนนบรมราชชนนี ผ่านพุทธมณฑล นครชัยศรี ไปจนถึงตัวจังหวัดนครปฐม
ทางรถไฟ
การรถไฟแห่งประเทศไทย มีบริการรถไฟไปจังหวัดนครปฐมทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถานีรถไฟหัวลำโพง โทร. 1690, 0 2220 4334, 0 2220 4444 และที่สถานีรถไฟธนบุรี โทร. 0 2411 3102 หรือ www.railway.co.th

ทางรถโดยสารประจำทาง
การเดินทางไปจังหวัดนครปฐม สามารถเดินทางได้จากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ตั้งแต่เวลา 05.30-23.15 น. ซึ่งมีรถโดยสารประจำทางปรับอากาศวิ่ง 2 เส้นทาง คือ
สายเก่า (กรุงเทพฯ-อ้อมใหญ่-สามพราน-นครปฐม) มีรถโดยสารประจำทางปรับอากาศชั้น 2 สายกรุงเทพฯ-นครปฐม, กรุงเทพฯ-ราชบุรี, กรุงเทพฯ-บางลี่
สายใหม่ (กรุงเทพฯ-พุทธมณฑล-นครชัยศรี-นครปฐม) สามารถใช้บริการรถโดยสารประจำทางปรับอากาศชั้น 1 สายกรุงเทพฯ-นครปฐม, กรุงเทพฯ-ด่านช้าง(สีน้ำเงิน) หรือ รถโดยสารปรับอากาศชั้น 2 สายกรุงเทพฯ-นครปฐม, สายกรุงเทพฯ-ดำเนินสะดวก, กรุงเทพฯ-เพชรบุรี ตั้งแต่เวลา 05.30-23.00 น. รถอกทุก 15 นาที สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี โทร. 0 2435 1199, 0 2435 5605, 0 2434 7192 และ นครปฐมทัวร์ กรุงเทพฯ โทร. 0 2435 4971 นครปฐม โทร. 0 3424 3113 หรือที่เว็บไซต์ www.transport.co.th

การเดินทางจากนครปฐมไปยังจังหวัดใกล้เคียง
ราชบุรี 41 กิโลเมตร
สมุทรสาคร 48 กิโลเมตร
นนทบุรี 65 กิโลเมตร
สุพรรณบุรี 105 กิโลเมตร
กาญจนบุรี 112 กิโลเมตร
การเดินทางจากอำเภอเมืองนครปฐมไปยังอำเภอต่าง ๆ
อำเภอเมือง - กิโลเมตร
อำเภอนครชัยศรี 14 กิโลเมตร
อำเภอพุทธมณฑล 20 กิโลเมตร
อำเภอสามพราน 21 กิโลเมตร
อำเภอกำแพงแสน 26 กิโลเมตร
อำเภอดอนตูม 31 กิโลเมตร
อำเภอบางเลน 46 กิโลเมตร

สถานที่ท่องเที่ยว : อ.เมือง

วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรวิหาร
เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรมหาวิหาร เป็นที่ประดิษฐานองค์พระปฐมเจดีย์ที่ใหญ่และสูงที่สุดของไทย จังหวัดนครปฐมได้ใช้พระปฐมเจดีย์เป็นตราประจำจังหวัด
พระปฐมเจดีย์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นองค์ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ.2396โดยโปรดเกล้าฯให้สร้างครอบองค์เดิมที่ชำรุดหักพังลง การก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ.2413 มีความสูง 3 เส้น 1 คืบ 10 นิ้ว ฐานวัดโดยรอบได้ 5 เส้น 17 วา 3 ศอก ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ทรงบูรณะวัดพระปฐมเจดีย์ให้สง่างามมากขึ้น และถือว่าวัดพระปฐมเจดีย์เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 6

พระร่วงโรจนฤทธิ์
ประดิษฐานในซุ้มวิหารทางทิศเหนือหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งได้พระเศียร พระหัตถ์ และพระบาทมาจากเมืองศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ช่างทำรูปปั้นขี้ผึ้งปฏิสังขรณ์ให้บริบูรณ์เต็มองค์ทำพิธีหล่อที่วัดพระเชตุพนฯ เมื่อ พ.ศ.2456 เป็นพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย เสร็จแล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในซุ้มวิหารด้านเหนือตรงกับบันไดใหญ่ และพระราชทานนามว่า พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรมโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร และที่ฐานพระพุทธรูปองค์นี้เป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชวังนครปฐม
อยู่ทางทิศตะวันออกติดกับบริเวณพระปฐมเจดีย์ มูลเหตุที่สร้างพระราชวังนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวไว้ในหนังสือเรื่องตำนานวังเก่าว่าพระราชวังนี้สร้างเนื่องในการปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ด้วย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า พระมหาเจดีย์เป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สร้างแต่แรกพระพุทธศาสนามาประดิษฐานในประเทศนี้ แต่ก่อนพระสถูปเจดีย์นั้นร้างกลายเป็นป่าเปลี่ยว แต่ประชาชนยังเลื่อมใส ไปบูชาพระปฐมเจดีย์มิได้ขาด จึงทรงพระราชศรัทธาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ทั่วบริเวณ และโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองมหาสวัสดิ์ คลองเจดีย์บูชา ให้การคมนาคมระหว่างกรุงเทพฯ และนครปฐมสะดวกขึ้น ถึงกระนั้นการที่ไปมาระหว่างกรุงเทพฯ กับนครปฐมในสมัยนั้น ต้องค้างคืนกลางทางหนึ่งคืนจึงถึง จำเป็นต้องสร้างที่ประทับแรมขึ้นที่พระปฐมเจดีย์ จึงโปรดฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้นที่บริเวณพระปฐมเจดีย์ทำนองเดียวกับพระราชวัง ซึ่งพระมหากษัตริย์ครั้งกรุงศรีอยุธยาทรงสร้างที่ริมบริเวณพระพุทธบาทและทรงพระราชทานนามว่า “พระนครปฐม”

เนินวัดพระงาม
เนินนี้อยู่ที่วัดพระงาม ตำบลนครปฐม ห่างจากพระปฐมเจดีย์ ไปเล็กน้อย เป็นซากพระเจดีย์ ที่มีขนาดสูงใหญ่วัดหนึ่ง ในสมัยทวาราวดี เช่นเดียวกับองค์พระปฐมเจดีย์ เพราะโบราณวัตถุ ที่ขุดค้นพบ ในบริเวณนี้ ล้วนแต่เป็นของเก่าแก่ ฝีมือสมัยทวาราวดี ทั้งสิ้น เช่นเดียวกันกับ ที่ขุดได้ในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ มีพระพุทธรูปศิลา หักพัง พระเสมาธรรมจักร กวางหมอบ พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ พระพิมพ์ดินเผา เฉพาะที่ขุดได้ในบริเวณนี้ ฝีมืองามมาก ยากจะหาที่อื่นเทียบได้ ปัจจุบันเก็บไว้ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หลายองค์ และที่แตกหัก เก็บไว้ที่องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นอันมาก ที่เรียกว่า วัดพระงามนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า เพราะพระพุทธรูป ดินเผา ที่ขุดได้จากบริเวณวัดนี้ งามเป็นเลิศนั่นเอง

พระราชวังสนามจันทร์
ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ ไปทางทิศตะวันตก ราว 2 กิโลเมตร มีพื้นที่ 888 ไร่ 3 งาน 24 ตารางวา พระราชวังแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ตั้งแต่ยังทรงดำรงพระยศ เป็นสมเด็จ พระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งมีมูลเหตุจูงใจ มาจากการบูรณะปฏิสังขรณ์ องค์พระปฐมเจดีย์ ที่ทำให้ พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพอพระราชหฤทัย เมืองนครปฐม เป็นอย่างยิ่ง ทรงเห็นว่า เป็นเมืองที่เหมาะสม สำหรับประทับพักผ่อน เนื่องจากมีภูมิประเทศงามร่มเย็น ดังที่ได้ทรงไว้ในลายพระหัตถ์เรื่องการแก้ไขวิหารหลวงตอนหนึ่งว่า
“ในรัชกาลที่ 5 ฉันได้ออกไปพักอยู่ที่เมืองนครปฐมบ่อย ๆ จึงได้ใฝ่ใจในองค์พระนั้นมากแต่นั้นมา”
เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร และยังไม่ได้สร้างพระราชวังสนามจันทร์ เวลาเสด็จนครปฐม มักจะประทับที่พลับพลาชั่วคราว ในดงไผ่ บริเวณมหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบัน หรือมิฉะนั้น ก็จะประทับที่พระตำหนักบังกะโล ซึ่งอยู่ตรงมุมถนนขวาพระใกล้กับสถานีตำรวจ ซึ่งปัจจุบัน พระตำหนักหลังนี้ ได้รื้อลงหมดแล้ว พระองค์โปรด การทรงม้า พระที่นั่ง สำรวจท้องที่เป็นอย่างมาก บางครั้งก็เสด็จไปที่ตำบลวัดทุ่งพระเมรุ แต่ส่วนใหญ่ โปรดเสด็จไปที่บริเวณพระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งแต่เดิม เป็นที่ของชาวบ้านปลูกพืชไร่และพืชล้มลุก เช่น กล้วย สับปะรด ไว้มากมาย สลับกับทุ่งหญ้า รกเรื้อ และป่าไผ่ ขึ้นเป็นดง ทรงพอพระราชหฤทัยมาก เห็นว่าเป็นสถานที่เหมาะสม จะสร้างเป็นที่ประทับถาวร ในการเสด็จฯ แปรพระราชฐาน จึงรับสั่งขอซื้อจากชาวบ้าน เจ้าของที่ โดยใช้เงินจากพระคลังข้างที่ทั้งสิ้น
พระราชประสงค์ในการซื้อที่ดินจำนวนมากมาย เพื่อสร้างพระราชวังสนามจันทร์ครั้งนี้มิใช่จะเห็นแก่ความสุขสบายส่วนพระองค์ ในการเสด็จฯ แปรพระราชฐานเท่านั้น แต่เพราะทรงมีพระราชดำริที่ลึกซึ้ง นั่นก็คือ ทรงเห็นว่านครปฐมเป็นเมืองที่มีชัยภูมิเหมาะสำหรับต้านทานข้าศึกซึ่งจะยกเข้ามาทางน้ำได้อย่างดี ด้วยทรงจดจำเหตุการณ์ เมื่อ ร.ศ.112 ที่ฝรั่งเศสนำเรือรบเข้ามาปิดปากอ่าวไทยได้ และไม่ต้องการที่จะให้ประเทศไทยตกอยู่ในสภาพดังกล่าว จึงตั้งพระทัยที่จะสร้างพระราชวังสนามจันทร์ไว้สำหรับเป็นเมืองหลวงที่สองเมื่อประเทศชาติประสบปัญหาวิกฤติ
พระราชวังสนามจันทร์ เริ่มสร้างในปี พ.ศ.2450 มีหลวงพิทักษ์มานพ (น้อย ศิลปี) ซึ่งต่อมาได้เลื่อนยศเป็นพระยาศิลป์ประสิทธิ์ เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างพระที่นั่งซึ่งสร้างแล้วเสร็จ และพระราชทานนามตามประกาศลงวันที่ 27 สิงหาคม 2454 มีเพียง 2 พระที่นั่ง ได้แก่ พระที่นั่งพิมานปฐม และพระที่นั่งอภิรมย์ฤดี
ต่อมาจึงสร้างเพิ่มเติมจนเสร็จสมบูรณ์ตามพระราชวังแต่เก่าก่อนดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำพิธียกพระมหาเศวตฉัตรขึ้นประดิษฐานเหนือพระแท่นรัตนสิงหาสน์ ภายในพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2466 เวลา 4 นาฬิกา 47 นาที 51 วินาที
พระราชวังสนามจันทร์ เปิดให้เข้าชมเฉพาะ วันอังคาร-พฤหัสบดี-เสาร์ เวลา 9.00-16.00 น. มีอาณาเขตกว้างขวางประกอบด้วยสนามใหญ่อยู่กลาง มีถนนโอบเป็นวงโดยรอบและ มีคูน้ำล้อมอยู่ชั้นนอก ส่วนพระที่นั่งต่าง ๆ นั้นรวมกันอยู่ส่วนกลางของพระราชวังเท่าที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่

พระที่นั่งพิมานปฐม
เป็นพระที่นั่งองค์แรกที่สร้างขึ้นในพระราชวังสนามจันทร์อาคารก่ออิฐถือปูน เป็นตึก 2 ชั้นแบบตะวันตก ทรงใช้เป็นที่ประทับตั้งแต่ยังไม่ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ ห้องต่างๆ บนพระที่นั่งได้แก่ ห้องบรรทม ห้องสรง ห้องเสวย ห้องภูษา ฯลฯ และในพระที่นั่งพิมานปฐมนี้เองที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ประทับทอดพระเนตรเห็นปาฏิหาริย์ขององค์พระปฐมเจดีย์บนแท่นไม้สักมีขนาด 2 เมตร ชื่อว่า “พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย์” ขณะนี้ทางการได้รื้อนำไปตั้งไว้หน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ส่วนพระที่นั่งพิมานปฐมนั้น ในปัจจุบันใช้เป็นส่วนหนึ่งของศาลากลางจังหวัดนครปฐม

พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี
เป็นตึก 2 ชั้น อยู่ด้านใต้ของพระที่นั่งพิมานปฐม ขณะนี้ใช้เป็นที่ทำการของศาลากลางจังหวัดนครปฐม

พระที่นั่งวัชรีรมยา
เป็นตึก 2 ชั้น สร้างงดงามมากด้วยสถาปัตยกรรมแบบไทย หลังคาซ้อนเช่นยอดปราสาท มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีงดงาม มีช่อฟ้าใบระกา นาคสะดุ้ง หางหงส์ครบถ้วน พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่บรรทมเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของศาลากลางจังหวัด

พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์
เป็นศาลาโถงรูปทรงไทยใหญ่กว้างขวาง ยกสูงจากพื้นดินประมาณหนึ่งเมตร และมีอัฒจันทร์ลง 2 ข้าง พระที่นั่งองค์นี้อยู่ถัดจากพระที่นั่งวัชรีรมยาเชื่อมต่อกันด้วยพระทวาร แต่เดิมใช้เป็นท้องพระโรงเวลาเสด็จออกขุนนาง รวมทั้งเป็นที่ประชุมข้าราชการและเหล่าเสือป่า นอกจากนี้ยังใช้เป็นโรงละครสำหรับแสดงโขนอีกด้วย ที่มีลักษณะพิเศษก็คือ ตัวแสดงจะออกมาปรากฏภายภายนอกฉากบนเฉลียงถึง 3 ด้าน มิใช่แสดงอยู่เพียงบนเวทีโรงละครที่มีลักษณะดังกล่าวมีอีก 2 แห่ง คือ โรงละครสวนมิสกวันและที่หอประชุมโรงเรียนวชิราวุธ ปัจจุบันพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ใช้เป็นหอประชุมของจังหวัดนครปฐมหรือใช้ในพิธีต่าง ๆ ของทางราชการ

พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์
อยู่ถัดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นตึก 2 ชั้น แบบตะวันตกฉาบสี ไข่ไก่ หลังคามุงกระเบื้องสีแดง พระตำหนักหลังนี้ใช้เป็นที่ประทับเวลาเสือป่าเข้าประจำกองหรือในกิจพิธีเกี่ยวกับเสือป่า
พระตำหนักมารีราชรัตนบัลลังก์
เป็นเรือนไม้ 2 ชั้น ทาสีแดงอยู่คนละฝั่งกับพระที่นั่งชาลีมงคลอาสน์ พระตำหนังทั้งสองนี้เชื่อมติดต่อถึงกันด้วยทางเดินมีลักษณะคล้ายสะพานแต่มีหลังคา มีฝา และหน้าต่างทอดยาวจากชั้นบน

พระตำหนักทับแก้ว
เป็นตึกหลังเล็กซึ่งเคยเป็นที่ประทับในฤดูหนาว ปัจจุบันได้ปรับปรุงและตกแต่งสวยงาม ใช้เป็นบ้านพักของปลัดจังหวัดนครปฐม ภายในอาคารยังมีเตาผิงสำหรับให้ความอบอุ่น และมีภาพเขียนขาวดำของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวบนแผ่นหินอ่อนสีขาวที่ผนังห้อง อนึ่งที่ดินบริเวณเบื้องหลังทับแก้วประมาณ 450 ไร่ ได้กลายเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากร

พระตำหนักทับขวัญ
เป็นเรือนไม้สักแบบหลังคามุงจาก อยู่ตรงข้ามกับทับแก้วคนละฝั่งถนน ห่างจากพระตำหนักมารีราชรัตนบัลลังก์ไปเล็กน้อยเรือนไม้หลังนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อรักษาศิลปะไทยโบราณไว้ นอกจากนี้ ยังใช้สำหรับบำเพ็ญกุศล และบางครั้งก็จัดให้มีการแสดงของไทยเดิม

เทวาลัยคเณศวร์
หรือบางทีเรียกกันว่า ศาลพระพิฆเณศวร์ สร้างขึ้นให้เป็นที่สถิตของพระคเณศวร์ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปะ ศาลนี้ตั้งอยู่กลางสนามใหญ่หน้าพระที่นั่งนับเป็นศูนย์กลางของพระราชวังสนามจันทร์มีผู้ศรัทธานับถือกันมาก จนเป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ของพระราชวังสนามจันทร์

อนุสาวรีย์ย่าเหล
เป็นรูปหล่อด้วยโลหะขนาดเท่าตัวจริงของสุนัข ซึ่งมีความผูกพันใกล้ชิดกับพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง ย่าเหลเป็นสุนัขพันธุ์ทางเกิดในเรือนจำจังหวัดนครปฐม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพบเข้าเมื่อครั้งเสด็จฯ ตรวจเรือนจำ จึงนับว่าเป็นโชคของย่าเหลที่ทรงพอพระราชหฤทัย และทรงเอาย่าเหลมาเลี้ยงไว้ในราชสำนัก ย่าเหลเป็นสุนัขที่เฉลียวฉลาดและจงรักภักดีต่อพระองค์ท่านจนเป็นที่โปรดปรานมาก เป็นเหตุให้มีผู้อิจฉาริษยาและถูกยิงตายในที่สุด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโศกเศร้าอาลัยย่าเหลมาก โปรดเกล้าฯ ให้หล่อรูปย่าเหลด้วยทองแดงตั้งไว้หน้าพระตำหนังชาลีมงคลอาสน์ และทรงพระราชนิพนธ์กลอนไว้อาลัยย่าเหลไว้ที่แท่นใต้รูปนั้นด้วย
นอกจากนี้แล้ว ภายในพระราชวังสนามจันทร์ยังมีบ้านพักข้าราชบริพารทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายในที่ตามเสด็จเสมอในครั้งก่อน บ้านพักเหล่านี้ บางหลังก็ชำรุดทรุดโทรม แต่หลายหลังยังอยู่ในสภาพดีที่เห็นได้ก็คือ บ้านพักเจ้าพระยารามราฆพ ผู้สำเร็จราชการมหาดเล็กซึ่งครั้งนั้นเรียกว่า “ทับเจริญ” ปัจจุบันนี้ได้ใช้เป็นสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม
พระราชวังสนามจันทร์ เป็นสถานที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดมากเป็นพิเศษ จะเห็นได้จากการที่เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระราชวังแห่งนี้อยู่เนือง ๆ โดยเสด็จฯ แปรพระราชฐานให้ตรงกับฤดูการซ้อมรบของพวกเสือป่า พระองค์จึงทรงถือโอกาสออกตรวจตราและบัญชาการซ้อมรบของเหล่าเสือป่าด้วยพระองค์เองเสมอ ปัจจุบันก็ยังมีอาคารซึ่งปลูกสร้างขึ้น เพื่อกิจการของเสือป่าเหลืออยู่ให้เห็นเช่นอาคารที่พักของเสือป่าม้าหลวง และเสือป่าพรานหลวงกับโรงพยาบาลเสือป่า เป็นต้น

พระราชวังเดิม
เมืองนครปฐมเคยเป็นเมืองที่มีพระมหากษัตริย์ครอบครองมาแต่โบราณกาล แต่ปราสาทราชวังในครั้งนั้นสร้างด้วยไม้ถูกทอดทิ้งให้รกร้างมาเป็นเวลานาน จึงผุพังเหลือแต่ซาก จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2454
ร่องรอยพอจะสันนิษฐานได้ คือ ตรงบ้านเนินปราสาทอันเป็นที่ตั้งพระราชวังสนามจันทร์ ปัจจุบันนี้มีเนินดินและลำคูล้อมรอบตามหนังสือเรื่องพระปฐมเจดีย์ฉบับเก่าของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ว่าพระที่นั่งองค์เก่ามีฐานปราสาท และท้องพระโรงมีโบสถ์พราหมณ์ สระน้ำ กำแพงชั้นในและชั้นนอกก็ยังเหลืออยู่บ้าง แต่พวกจีนที่ไปตั้งทำไร่ รื้อทำลายเสียหายไปมาก
นอกจากนี้ยังมีเนินดิน ซากโบราณเกี่ยวกับโบสถ์พราหมณ์ และลายกนกปูนปั้นเหลือเป็นพยานอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ ลักษณะลวดลายและฝีมือดูจะเป็นของเก่า ของเหล่านี้ล้วนแต่ใช้ศิลาแลงเป็นแกนและพวกปูนประกอบอีกชั้นหนึ่ง
มีสระใหญ่อีกแห่งหนึ่งอยู่ใกล้ๆ กับเนินดินที่กล่าวนี้เรียกว่า “สระน้ำจันทร์” กล่าวกันว่าเป็นที่ขังน้ำจืดคล้ายกันกับน้ำในทะเลชุบศร เมืองลพบุรี ปัจจุบันนี้สระน้ำตื้นเขินเสียหมดแล้ว ชื่อของสระน้ำเป็นต้นเค้าที่ทำให้เรียกชื่อตำบลว่าตำบลสระน้ำจันทร์มาแต่โบราณ จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังนี้ขึ้นจึงได้ทรงเปลี่ยนชื่อใหม่ เรียกตามพระราชวังว่า “ตำบลสนามจันทร์” จากเรื่องราวดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่า เมืองนครปฐมเดิมคงจะใหญ่โตมาก เพราะบริเวณพระราชวังอยู่ห่างจากพระเจดีย์องค์เดิม ซึ่งเป็นศูนย์กลางของตัวเมือง เกือบ 2 กิโลเมตร

วัดพระเมรุ
เป็นซากวัดร้างไม่มีผู้ใดปฏิสังขรณ์ตั้งอยู่ที่สวนอนันทอุทยาน ตำบลห้วยจระเข้ ห่างจากพระปฐมเจดีย์ไปทางทิศใต้ไม่ไกลนักสันนิษฐานว่า สร้างตั้งแต่สมัยทวาราวดีมีอายุเท่ากับพระปฐมเจดีย์เดิม ซึ่งไม่น้อยกว่า 1,000 ปีขึ้นไป แต่เวลานี้ไม่มีซากสิ่งอื่นหลงเหลืออยู่ คงมีแต่ซากเนินใหญ่ปรากฏอยู่เนินหนึ่ง กรมศิลปากรได้ร่วมมือกับนักโบราณคดีฝรั่งเศสทำการขุดค้น เมื่อ พ.ศ. 2481 จากรูปทรงสันนิษฐานที่ขุดพบครั้งนี้สันนิษฐานว่าเป็นพระเจดีย์องค์มหึมาก่อเป็นชั้นๆ ย่อมุมขึ้นไปสูงมากเพราะซากฐานที่หักพังเหลืออยู่ในขณะที่ทำการขุดสูงถึง 12 เมตร มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปศิลานั่งห้อยพระบาทประจำ 4 ทิศ ได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้เป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ 1 องค์ คือ องค์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
อนึ่ง ในสมัยรัชกาลที่ 6 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุได้นำพระบาทขนาดโตมาไว้ตรงชั้นนอกพระระเบียงองค์พระปฐมเจดีย์ 2 คู่ ซึ่งได้มาจากวัดพระเมรุเช่นกัน สิ่งที่พบในบริเวณวัดพระเมรุมีพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ พระกร พระเพลา พระหัตถ์ของพระพุทธรูปศิลากับเทพยักษ์ เทพสิงห์ดอกบัวตลอดจนลวดลายประดับองค์พระเจดีย์ที่หักพังลงมากมาย นำไปไว้ในพิพิธภัณฑ์องค์พระปฐมเจดีย์บ้าง ไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้าง

พระประโทณเจดีย์
เป็นปูชนียสถานที่เก่าแก่และใหญ่โตเป็นที่สองรองจากพระปฐมเจดีย์ ตั้งอยู่ที่วัดประโทณ ริมถนนเพชรเกษม ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 5 กิโลเมตร ถือกันว่าเป็นที่บรรจุทะนานทองที่ใช้ตวงพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เดิมเป็นเจดีย์เก่าแก่และได้ปฏิสังขรณ์ใหม่ในรัชกาลที่ 4 โบราณวัตถุที่ขุดพบในบริเวณนี้มีหลายอย่างเช่น พระพุทธรูป ลูกประคำ พระพิมพ์ดินเผาสมัยทวาราวดี นอกจากนี้ขุดพบครุฑโลหะสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่อีกด้วย

เนินธรรมศาลา
อยู่ที่วัดธรรมศาลา ตำบลธรรมศาลา ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางตะวันออกประมาณ 6 กิโลเมตร อยู่ทางด้านใต้ของถนนสายเพชรเกษม เป็นโบราณสถานที่เก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง มีลักษณะคล้ายกับวัดพระเมรุก่อนทำการขุดค้น เนินนี้ยังมิได้ทำการขุดค้นเช่นเดียวกับเนินวัดพระงาม เพราะมีสิ่งสร้างอยู่หน้าเนิน และปัจจุบันที่ตั้งธรรมศาลา

เนินพระหรือเนินยายหอม
อยู่ที่ตำบลดอนยายหอม จากจังหวัดนครปฐมไปตามถนนเพชรเกษมสู่กรุงเทพฯ ประมาณ 5 กิโลเมตร จะมีแยกเลี้ยวขวาเข้าถนนเศรษฐกิจ 2 (บ้านแพ้ว-ดอนยายหอม) ประมาณ 9 กิโลเมตร จะถึงเนินพระหรือเนินยายหอม ซึ่งอยู่ทางฝั่งซ้ายของถนนลึกเข้าไปประมาณ 150 เมตร กลางทุ่งนาใกล้กับถนนสายนครปฐม อำเภอบ้านแพ้ว เป็นโบราณสถานที่เก่าแก่มากเมื่อ พ.ศ.2479 พระธรรมวาทีคณาจารย์ (หลวงพ่อเงิน) เจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม ได้ขุดเอาอิฐที่หักพังแถวชานเนินไปสร้างพระอุโบสถ เมื่อขุดลึกลงไปเล็กน้อยก็พบศิลาเหลี่ยมเขียวสองต้น สูงประมาณ 4 เมตร มีลายจำหลักที่ปลายเสา คล้ายกับเสาประตูสัญจิเจดีย์ของพระเจ้าอโศกมหาราชกับกวางหมอบ ทำด้วยศิลา 1 ตัว พระพุทธรูปศิลาสมัยทวาราวดี 1 องค์ พระเสมาธรรมจักรทำด้วยหินแต่หักพัง เสาศิลานี้ตอนบนง่ามสำหรับวางพระเสมาธรรมจักร เป็นแบบเดียวกับที่พบในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์วัดพระงาม วัดพระประโทณ และแบบพระราชวังสนามจันทร์ เสาศิลานี้ เวลานี้อยู่ที่วัดดอนยายหอม ส่วนกวางหมอบกับพระพุทธรูปส่งไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จากโบราณวัตถุที่พบเหล่านี้เป็นหลักฐานยืนยันว่าเดิมบริเวณนี้เป็นวัดเก่าและตัวเนินคงจะเป็นฐานเจดีย์ขนาดสูงใหญ่อยู่ภายในบริเวณวัด ตั้งแต่สมัยทวาราวดีหรือก่อนนั้นมีอายุกว่า 1,000 ปีมาแล้ว ถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น