วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2552

เชียงใหม่




" ดอยสุเทพเป็นศรี ประเพณีเป็นสง่า บุปผาชาติล้วนงามตา นามล้ำค่านครพิงค์ "


เชียงใหม่ นพบุรี ศรีนครพิงค์ หรือเวียงพิงค์ ของพ่อ ขุนเม็งรายมหาราชในอดีต หรือเชียงใหม่ในวันนี้เป็นเมืองที่ รวบรวมศิลปกรรม โบราณวัตถุ ตลอดจนวัฒนธรรมดั้งเดิม ของลานนาไทยเอาไว้ ส่วนสภาพทางภูมิศาสตร์นั้น พื้นที่ จังหวัดเชียงใหม่ส่วนใหญ่เป็นป่าละเมาะและภูเขา เนื้อที่ ประมาณ 20,107 ตารางกิโลเมตร มีที่ราบอยู่ตอนกลาง ตามสองฟากฝั่งแม่น้ำปิง
____________________________________

ประวัติและความเป็นมา : เชียงใหม่

เชียงใหม่ มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน ในตำนานแรกๆ ที่กล่าวถึงเชียงใหม่ อย่างตำนานว่าด้วยพระธาตุในล้านนา กล่าวถึง ลัวะ ว่าเป็นชนพื้นเมืองมาก่อน ตำนานมูลศาสนา ชินกาลมาลีปกรณ์และจามเทวีวงศ์ กล่าวเปรียบเทียบลัวะ ว่าเป็นคนเกิด ในรอยเท้าสัตว์ ด้วยเหตุที่ ลัวะ ถือเอารูปสัตว์เป็นสัญลักษณ์ ตำนานรุ่นหลังอย่างตำนานสุวรรณคำแดง หรือ ตำนานเสาอินทขิล เล่าว่า ลัวะ เป็นผู้สร้าง เวียงเจ็ดลิน เวียงสวนดอก และเวียงนพบุรี หรือ เชียงใหม่ ลัวะ จึงน่าจะเป็นชนกลุ่มแรก ที่สร้างเมือง แต่ก่อนหน้านี้ ก็คงมีมนุษย์อาศัยอยู่ที่นี่ก่อนแล้ว แต่ยังไม่เป็นเมืองเต็มรูปแบบ
ในขณะเดียวกัน ที่ลำพูน ก็มีเมืองชื่อหริภุญไชย ตามตำนานการสร้างเมืองเล่าว่า พระนางจามเทวีวงศ์ ธิดากษัตริย์เมืองละโว้ เสด็จขึ้นมาครองหริภุญไชยใน พ.ศ.1310-1311 ครั้งนั้น พระนางได้พาบริวาร ข้าราชบริพาร ที่เชี่ยวชาญ ในศิลปวิทยาการต่างๆ ขึ้นมาด้วย หริภุญไชยจึงได้รับเอาพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ละโว้ มาใช้ในการพัฒนาจนเจริญขึ้นเป็นแคว้นใหญ่ จวบจนประมาณปี พ.ศ.1839 พญามังราย ผู้สืบเชื้อสายมาจากปู่เจ้าลาวจก หรือ ลวจักราช เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์ลาว ครองเมืองเงินยาง ซึ่งได้แผ่อำนาจครอบคลุมลุ่มแม่น้ำกก และได้สร้างเวียงเชียงราย ขึ้นเป็นกองบัญชาการ ซ่องสุมไพร่พล เพื่อยึดครองหริภุญไชย เนื่องจากหริภุญไชย เป็นเมืองศูนย์กลางความเจริญ และเป็นชุมทางการค้า
พญามังรายได้เข้ายึดครองหริภุญไชย แล้วประทับอยู่เพียง 2 ปี ก็ทรงย้ายไปสร้างเวียงกุมกาม ใน พ.ศ.1837 ก่อนจะย้ายมาสร้าง เวียงเชียงใหม่ ใน พ.ศ.1839 โดยได้ร่วมกับพระสหายคือ พญางำเมือง และพ่อขุนรามคำแหง สถาปนา "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" ขึ้น
พญามังรายได้พัฒนาเมืองเชียงใหม่ ทั้งการก่อสร้างวัดวาอาราม มีการตรากฏหมายที่เรียกว่า "มังรายศาสตร์" รวมถึง รับเอาพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ เข้ามาเผยแผ่ ในอาณาจักร ซึ่งทำให้พระภิกษุ ในล้านนา สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก สมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์องค์ที่ 9 อาณาจักรล้านนา ได้ขยายออกไปอีกอย่างกว้างขวาง พร้อมกับได้ผูกสัมพันธไมตรี กับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในสมัยของพระเจ้าติโลกราชนี้เอง ที่ได้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
อาณาจักรล้านนาเริ่มเสื่อมลงไปปลายสมัยพญาเมืองแก้ว เนื่องจากทำสงครามกับเชียงตุง พ่ายแพ้เสียชีวิตไพร่พลเป็นอันมาก ประกอบกับเกิดอุทกภัย กระทบถึงความมั่นคงของอาณาจักร เมืองในการปกครองเริ่มตีตัวออกห่าง พ.ศ.2101 ในสมัยมหาเทวีจิรประภา กษัตริย์องค์ที่ 15 พม่าได้ยกกองทัพมาตีเชียงใหม่ เพียง 3 วันก็เสียเมือง และกลายเป็นเมืองขึ้นของพม่ายาวนานถึง 216 ปี
ต่อมาในปี พ.ศ.2317 พญาจ่าบ้านและพระเจ้ากาวิละ ได้ร่วมกันต่อต้านพม่า และอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี ยกทัพมาขับไล่พม่าพ่ายแพ้ไป ต่อมาในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงแต่งตั้งพระเจ้ากาวิละ ขึ้นครองเมือง ในฐานะเมืองประเทศราช พระเจ้ากาวิละ ได้ฟื้นฟูเชียงใหม่จนมีอาณาเขตกว้างขวาง การค้าขายรุ่งเรือง ขณะเดียวกันก็ได้จัดส่งบรรณาการ ส่วยสิ่งของและอื่นๆ ให้แก่กรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งยังมีอำนาจในการแต่งตั้งตำแหน่งเจ้าเมืองและขุนนางระดับสูง
ล่วงมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่ออิทธิพลตะวันตกแผ่เข้ามาในเมืองไทย มีการปฏิรูปการปกครอง โดยผนวกดินแดนล้านนาเข้ามาเป็นมณฑลพายัพ แต่ก็ยังเป็นเมืองประเทศราชในอาณัติราชอาณาจักรสยาม ตรงกับรัชสมัยของเจ้าอินทวิชยานนท์ และรัชกาลที่ 5 ได้ทรงขอเจ้าดารารัศมี ธิดาของเจ้าอินทวิชยานนท์ไปเป็นชายา ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองอาณาจักรใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น
เมื่อมีการสร้างทางรถไฟขึ้นในเวลาต่อมา ส่งผลให้เมืองเชียงใหม่ ขยายตัวยิ่งขึ้น และใกล้ชิดกรุงเทพฯ มากขึ้น ในปี พ.ศ.2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มณฑลเทศาภิบาลถูกยกเลิก เชียงใหม่มีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่ง หลังจากนั้นเชียงใหม่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนมีความสำคัญรองจากกรุงเทพฯ เท่านั้น
____________________________

อาณาเขต :

ทิศเหนือ ติดกับรัฐเชียงตุงของประเทศพม่า
ทิศใต้ ติดกับจังหวัดลำพูน และ จังหวัดตาก
ทิศตะวันออก ติดกับ จังหวัดลำปาง จังหวัดเชียงราย และ จังหวัดลำพูน
ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน
จังหวัดเชียงใหม่แบ่งการปกครองออกเป็น 22 อำเภอและ 2 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอหางดง อำเภอแม่แตง อำเภอสารภี อำเภอสันกำแพง อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอเชียงดาว อำเภอสันทราย อำเภอฝาง อำเภอฮอด อำเภออมก๋อย อำเภอพร้าว อำเภอแม่ริม อำเภอสะเมิง อำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่ม อำเภอสันป่าตอง อำเภอแม่อาย อำเภอดอยเต่า อำเภอเวียงแหง อำเภอไชยปราการ อำเภอแม่วาง กิ่งอำเภอแม่ออน และกิ่งอำเภอดอยหล่อ
ระยะทางจากตัวเมืองไปยังอำเภอและกิ่งอำเภอต่างๆ
อำเภอแม่ริม 8 กิโลเมตร
อำเภอสารภี 10 กิโลเมตร
อำเภอสันทราย 12 กิโลเมตร
อำเภอสันกำแพง 13 กิโลเมตร
อำเภอหางดง 15 กิโลเมตร
อำเภอดอยสะเก็ด 18 กิโลเมตร
อำเภอสันป่าตอง 22 กิโลเมตร
กิ่งอำเภอแม่ออน 29 กิโลเมตร
อำเภอแม่วาง 35 กิโลเมตร
อำเภอแม่แตง 40 กิโลเมตร
อำเภอสะเมิง 54 กิโลเมตร
อำเภอจอมทอง 58 กิโลเมตร
อำเภอเชียงดาว 68 กิโลเมตร
อำเภอฮอด 88 กิโลเมตร
อำเภอพร้าว 103 กิโลเมตร
อำเภอดอยเต่า 121 กิโลเมตร
อำเภอไชยปราการ 131 กิโลเมตร
อำเภอเวียงแหง 150 กิโลเมตร
อำเภอฝาง 154 กิโลเมตร
อำเภอแม่แจ่ม 156 กิโลเมตร
อำเภอแม่อาย 174 กิโลเมตร
อำเภออมก๋อย 179 กิโลเมตร

:: สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอำเภอเมือง

วัดสวนดอก หรือวัดบุปผาราม

ตั้งอยู่ที่ถนนสุเทพ ในเขตอำเภอเมือง พระเจ้ากือนาทรงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1914 (ศักราชนี้ถือตามหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ของพระรัตนปัญญาเกตุ) เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของพระมหาเถระสุมน ผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ในล้านนา วัดนี้แต่เดิมเป็นพระราชอุทยานของกษัตริย์ลานนาไทยสมัยแรกเริ่ม มีสถาปัตยกรรมสำคัญ คือ เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงกลม กู่บรรจุอัฐิเจ้าตระกูล ณ เชียงใหม่ และวิหารโถง นอกจากนี้ ยังเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าเก้าตื้อ ซึ่งพญาเมืองแก้วโปรดให้หล่อขึ้น เป็นพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ ศิลปะล้านนาผสมกับศิลปะสุโขทัย

วัดเชียงมั่น

อยู่ถนนราชภาคินัย อำเภอเมือง เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดภายในตัวเมืองเชียงใหม่เมื่อพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 1839 พระองค์ทรงยกพระตำหนักเชียงมั่น ถวายเป็นพระอารามให้ชื่อว่า วัดเชียงมั่น วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญของเชียงใหม่ คือ พระเสตังคมณี หรือพระแก้วขาว ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวเชียงใหม่ มีสถาปัตยกรรมสำคัญ ได้แก่ เจดีย์สี่เหลี่ยมผสมทรงกลม ฐานช้างล้อม พระอุโบสถ และหอไตร

วัดพระสิงห์วรวิหาร

อยู่ถนนสามล้าน อำเภอเมือง เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งซึ่งประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร ประดิษฐานอยู่ในวิหารลายคำ เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ชาวเมืองจะอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้แห่ไปตามถนนรอบเมืองเพื่อให้ประชาชนสรงน้ำโดยทั่วถึงกัน แต่เดิมที่ดินบริเวณวัดนี้เป็นตลาด เรียกชื่อว่า วัดลีเชียง (ลี หมายถึง ตลาด) จนถึงปี พ.ศ. 1888 พระเจ้าผายู กษัตริย์องค์ที่ 5 ในราชวงศ์มังรายทรงโปรดฯ ให้สร้างวัดนี้ขึ้น พร้อมทั้งสร้างพระเจดีย์สูง 24 ศอกองค์หนึ่ง เพื่อใช้เป็นที่บรรจุอัฐิพระราชบิดาของพระองค์ สถาปัตยกรรมสำคัญของวัดนี้ได้แก่ วิหารลายคำที่มีจิตรกรรมฝาผนังงดงาม พระอุโบสถ หอไตรที่มีปูนปั้นรูปเทวดาประดับ และเจดีย์ทรงกลมแบบล้านนา

วัดปราสาท

ตั้งอยู่บนถนนอินทวโรรส อำเภอเมืองใกล้กับวัดพระสิงห์ วิหารภายในวัดมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบล้านนาดั้งเดิม ที่หน้าบันวิหารมีลวดลายปูนปั้นประดับกระจก และไม้แกะสลักรูปสิงห์ฝีมือประณีต ซุ้มปราสาทที่ประดิษฐานพระประธานเป็นศิลปะล้านนาโบราณที่หลงเหลืออยู่ไม่กี่แห่ง

วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร

ประดิษฐานเจดีย์ใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ วัดนี้ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองเชียงใหม่พอดี สร้างขึ้นในรัชกาลของพระเจ้าแสนเมืองมากษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย ต่อมาพระยาติโลกราชให้ช่างสร้างเป็นเจดีย์องค์ใหญ่ สูงถึง 98 เมตร ฐานกว้างด้านละ 54 เมตร แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2024 ต่อมาในสมัยพระนางจิระประภาครองเมืองเชียงใหม่ ได้เกิดแผ่นดินไหวทำให้ยอดเจดีย์หักโค่นลงเมื่อปี พ.ศ. 2088 วิหารด้านหน้าของวัดนี้เจ้าคุณอุบาลีคุณปรมาจารย์ (สิริจันทะเถระ) และเจ้าแก้วนวรัฐเป็นผู้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2471 หน้าประตูทางเข้าวิหาร มีบันไดนาคเลื้อยงดงามยิ่ง ใช้หางเกี่ยวกระหวัดขึ้นไปเป็นซุ้มประตูวิหาร นาคคู่นี้เป็นฝีมือเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่เดิมได้ชื่อว่าเป็นนาคที่สวยที่สุดของภาคเหนือ

วัดพันเตา

ตั้งอยู่บนถนนพระปกเกล้า ติดกับวัดเจดีย์หลวง เดิมเป็นหอคำหรือท้องพระโรงหน้าของพระเจ้ามโหตรประเทศ ซุ้มประตูทำเป็นรูปนกยูงอันเป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์
เสาอินทขิล หรือ เสาหลักเมือง
เป็นหลักเมืองเมื่อครั้งพ่อขุนเม็งรายมหาราชสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 1839 ปัจจุบันนี้อยู่ตรงหน้าวัดเจดีย์หลวง เสาอินทขิลนี้ประดิษฐานอยู่ในวิหารจตุรมุขทรงไทยหลังเล็กๆ หลักอินทขิลนี้สร้างด้วยไม้ซุงต้นใหญ่ ฝังอยู่ใต้ดิน ทุกปีในเดือนพฤษภาคมจะมีงานเรียกว่า เข้าอินทขิล เป็นการฉลองหลักเมืองเป็นประจำ

วัดตำหนัก (วัดศิริมังคลาจารย์หรือวัดสวนขวัญ)

สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2050 ในสมัยพระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิราช (พระเมืองแก้ว) กษัตริย์องค์ที่ 13 แห่งราชวงศ์มังราย อาศรมแห่งนี้เป็นที่จำพรรษาของพระศิริมังคลาจารย์ผู้นิพนธ์พระคัมภีร์ “มังคลัตถทีปนี” ปัจจุบันนี้ชำรุดทรุดโทรมปรักหักพังลงแล้ว วัดนี้ตั้งอยู่เส้นทางหางดงระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 7-8 ตรงข้ามสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่


วัดกู่เต้า

เดิมชื่อ วัดเวฬุวนาราม ตั้งอยู่ในตำบลศรีภูมิ ติดกับสนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ มีเจดีย์ที่มีลักษณะแปลกไปกว่าเจดีย์อื่นๆ ในเมืองไทย วัดนี้ไม่มีประวัติแจ้งไว้แน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่มีตำนานเล่าว่า เจดีย์กู่เต้านี้เป็นที่บรรจุอัฐิของเจ้าฟ้าสารวดี ซึ่งเป็นราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งมาครองเมืองเชียงใหม่ในระหว่างปี พ.ศ. 2122-2150 ลักษณะของเจดีย์องค์นี้คล้ายกับนำผลแตงโมมาวางซ้อนกันไว้หลายๆ ลูก ชาวบ้านจึงเรียกว่า เจดีย์กู่เต้า

วัดแสนฝาง

ตั้งอยู่ที่ถนนท่าแพ เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งที่มีศิลปกรรมพม่าผสมอยู่ โดยเฉพาะเจดีย์ที่มีการตกแต่งลวดลายปูนปั้นวิจิตรงดงาม นอกจากนี้ยังมีกุฏิเจ้าอาวาสซึ่งสร้างมานานกว่า 100 ปี เป็นจุดที่น่าสนใจอีกด้วย ตามประวัติเล่าว่าพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 ให้รื้อที่ประทับของพระเจ้ากาวิโรรสสุริวงศ์ (เจ้าชีวิตอ้าว) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 6 มาสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2420 ครั้นสร้างเสร็จแล้วจึงโปรดให้มีการฉลองในปี พ.ศ. 2421

วัดบุพพาราม

ตั้งอยู่บนถนนท่าแพ อำเภอเมือง สิ่งที่น่าชมคือ เจดีย์ทรงพม่า วิหารหลังใหญ่ซึ่งหน้าบันมีลวดลายไม้แกะสลักแบบพม่า และวิหารหลังเล็กซึ่งเป็นทรงพื้นเมืองสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง

เวียงกุมกาม

เป็นเมืองโบราณที่พญามังราย (พ่อขุนเม็งราย) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1829 โดยให้ขุดคูเวียงทั้ง 4 ด้าน ไขน้ำแม่ปิงให้ขังไว้ในคูเวียง โบราณสถานที่ปรากฎอยู่ในเวียงกุมกาม และใกล้เคียง จากการสำรวจพบว่ามีอยู่ 20 แห่ง ทั้งที่เป็นซากโบราณสถาน และเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่ แต่ละแห่งอยู่กระจัดกระจายกัน มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 21-22 โบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ วัดเจดีย์เหลี่ยม วัดช้างค้ำ และซากเจดีย์ วัดน้อย วัดปู่เปี้ย วัดกู่ขาว วัดอีก้าง วัดหัวหนอง และ วัดปู่ซ้ง
ปัจจุบันเวียงกุมกาม อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเชียงใหม่ ประมาณกิโลเมตรที่ 3-4 ถนนเชียงใหม่-ลำพูน ในเขตตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี และอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำปิงด้านทิศตะวันออก การเดินทาง เข้าทางตู้ยามหนองหอยและตรงมาจนทะลุแยกเกาะกลางป่ากล้วยตรงต่อไปจนถึงตู้ยามเจดีย์เหลี่ยม


วัดเจดีย์เหลี่ยม หรือ เจดีย์กู่คำ

สร้างขึ้นในรัชสมัยของพญามังราย เมื่อปี พ.ศ. 1831 กล่าวคือ หลังจากที่พระองค์ได้ยกทัพมาตีเมืองลำพูนแล้วทรงมอบเมืองลำพูนให้อำมาตย์คนสนิทชื่อ อ้ายฟ้า ครองเมืองแทน ส่วนพระองค์ก็ยกทัพไปสร้างเมืองใหม่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ได้ 5 ปี จึงยกทัพไปสร้างเมืองใหม่อยู้ใกล้ฝั่งแม่น้ำปิง เมื่อปี พ.ศ. 1820 ให้ชื่อเมืองนี้ว่าเวียงกุมกาม จนถึงปี พ.ศ. 1830 พระองค์ทรงให้ช่างไปถ่ายแบบพระเจดีย์มาจากวัดจามเทวีลำพูน เพื่อนำมาสร้างให้เป็นที่สักการะแก่คนทั้งหลาย
หลังจากนั้นมาเป็นเวลาหลายร้อยปี วัดนี้ได้ถูกทอดทิ้งให้รกร้าง จนถึงปี พ.ศ. 2451 มีคหบดีชาวพม่าคนหนึ่งได้มาเห็นเข้า เกิดความเลื่อมใส ได้บูรณะขึ้นใหม่ โดยให้ช่างชาวพม่าเป็นผู้ดำเนินการ จึงมีศิลปแบบพม่าเข้ามาแทนที่ศิลปแบบขอม ซึ่งเป็นแบบดั้งเดิม คงมีแต่โครงสร้างที่ยังเป็นรูปเดิมอยู่เท่านั้น


วัดเจ็ดยอด หรือวัดโพธารามวิหาร

ตั้งอยู่บนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์(เชียงใหม่-ลำปาง) ห่างจากตัวเมือง 4 กิโลเมตร ป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ชำรุดทรุดโทรมมาก และเพิ่งได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่เมื่อไม่นานมานี้ สถาปัตยกรรมสำคัญของวัดนี้ ได้แก่ เจดีย์เจ็ดยอด ซึ่งได้รับอิทธิพลจากเจดีย์พุทธคยาในประเทศอินเดีย ที่ฐานเจดีย์ประดับปูนปั้นรูปเทวดานอกจากนี้ยังมีเจดีย์ทรงปราสาท บรรจุอัฐิพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งราชวงศ์เม็งราย ผู้สร้างวัดนี้

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่

ตั้งอยู่บนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ (เชียงใหม่-ลำปาง) ใกล้ๆ กับวัดเจ็ดยอด จะเห็นตึกรูปทรงแบบล้านนาไทยประยุกต์ตั้งเด่นอยู่ริมถนน ภายในบริเวณกว้างขวางและร่มรื่น รวบรวมศิลปวัฒนธรรมของภาคเหนือไว้ มีสิ่งที่น่าสนใจและน่าศึกษามากมาย เปิดให้เข้าชมในวันพุธ-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ปิดวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โทร. (053) 221308

วัดอุโมงค์

ตั้งอยู่ที่ถนนสุเทพ ในตัวเมืองเชียงใหม่ สร้างขึ้นในสมัยพญามังรายเมื่อราวปี พ.ศ. 1839 และได้บูรณะเพิ่มเติมในสมัยพระเจ้ากือนา เป็นวัดที่มีอาณาเขตกว้างขวาง มีโบราณสถานที่สำคัญ คือ สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่เป็นแนวยาวคล้ายกำแพง ภายในเป็นอุโมงค์ทางเดินหลายช่อง เดินทะลุกันได้ ด้านบนกำแพงมีเจดีย์ก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ ปัจจุบันปรับปรุงบริเวณเป็นสวนพุทธธรรม ร่มรื่นด้วยแมกไม้นานาพันธุ์

ศูนย์ศิลปะการแสดงกาดสวนแก้ว

ตั้งอยู่ในอุทยานการค้ากาดสวนแก้ว สร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการนำเสนอกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรม โรงละครกาดสวนแก้วเป็นโรงละครที่มีการออกแบบและใช้อุปกรณ์ทางเทคนิคที่ทันสมัย เปิดแสดงละครทั้งของไทยและต่างประเทศ สอบถามรายการการแสดงได้ที่ โทร. (053) 224333 ต่อ กาดศิลป์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น