วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2552

โรคความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูง

คราวนี้ เราหันมาโรคใกล้ตัว คือโรคความดันโลหิตสูงนะครับ ความจริงเรา ๆ ก็คงไม่อยากใกล้โรคกันหรอก แต่มันก็แวะเวียนมาหาจนได้ ตามสังขารและกาลเวลาที่เปลี่ยนไป ยิ่งภาวะปัจจุบันที่สังคมไทยมีความเครียดสูง (หนี้เน่าท่วมหัว) ก็น่าจะมีความเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูงมากขึ้นไปอีก ความดันโลหิตคนเรา (ต้อง) มีขึ้นได้เกิดจากหัวใจสูบฉีดเลือดแดงไปเลี้ยงร่างกาย ผ่านระบบท่อนำเลือดแดงจากเส้นใหญ่ ๆ ใกล้หัวใจจนไปถึงปลายสุดคือเส้นเลือดฝอยที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ เช่น หัวใจ ไต สมอง ฯลฯ ค่าความดันที่แพทย์บอกให้ทราบทุกครั้งที่ไปตรวจ จะมี 2 ค่าคือค่าแรก (ค่าบน) จะวัดช่วงที่หัวใจบีบตัว, ค่าที่ 2 (ค่าล่าง) จะวัดช่วงหัวใจคลายตัว ซึ่งเรียก ซีสโตลิค และไดแอสโตลิคตามลำดับ ซึ่งค่าปรกติจะอยู่ไม่เกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท

ในอเมริกาพบผู้ป่วยความดันสูงมากกว่า 140/90 นี้ ในผู้ใหญ่ ประมาณ 45% ในคนไทยผมว่า อาจจะน้อยกว่านี้ซักเล็กน้อย หรือใกล้เคียง ยิ่งต่อไป ฝรั่งจะยึดเมืองไทยแล้วคงจะเท่ากันเปี๊ยบเลยหล่ะ (ว่าจะไม่วกเข้าเรื่องชวนเครียดแล้วนะครับ) จะเป็นที่ฟ้าบันดาลหรือเราละเลยก็ไม่ทราบที่ว่า มีผู้ป่วย 20-30 % เท่านั้น ที่รักษาความดันสม่ำเสมอตามแพทย์แนะนำ ที่เหลือนั้นรู้แล้วควบคุมไม่ดเ หรือไม่สนใจรักษาเนื่องจากไม่มีอาการ

ตามจริง โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่มีความสำคัญและอันตราย แต่เนื่องจาก ระยะเริ่มแรกจะไม่มีอาการอะไร เมื่อเป็นมากแล้วจึงเริ่มมีอาการ จึงทำให้หลาย ๆ คนไม่ค่อยให้ความสำคัญและสนใจที่จะรักษา

ดังนั้นการที่เราจะทราบสถานะของความดันของเราต้องหมั่นวัดบ่อย ๆ นะครับ ถ้าไม่รู้จะวัดที่ไหน ก็ตรงไปที่ รพ.อุบลรักษ์ฯ เลยนะครับ ยินดีตรวจสอบให้ เมื่อความดันเป็นนาน ๆ หรือมาก ๆ เข้าก็จะเริ่มมีอาการ เช่น ปวดศรีษะ โยเฉพาะตอนตื่นใหม่ ๆ มึนงง สมองไม่โล่ง วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน เหนื่อยง่าย ถ้าเป็นมากเข้ามีอาการแทรกซ้อเช่น ทางหัวใจ ก็จะมี เส้นเลือดหัวใจตีบฉับพลัน มีเจ็บหน้าอก ช็อค เสียชีวิต หรือหัวใจล้มเหลว หอบเหนื่อย น้ำท่วมปอด อาการทางสมอง เช่น โลหิตสมองแตก หรือตีบทำให้มีอาการตั้งแต่เบาะ ๆ คือวูบ พูดไม่ชัด ชาตามมือเท้า เป็นมาก ๆ เข้าจะถึงขั้นอัมพาต หรือเสียชีวิต, ถ้ามีโรคแทรกซ้อนทางไตก็จะมีอาการ ไตวาย, บวม, หอบ และเสียชีวิตได้ นอกจากนั้น อาการแทรกอื่น ๆ เช่นตาบอด จากเส้นเลือดในตาตีบหรือแตก, ประสาทตาบวม เส้นเลือดที่ขาตีบตัน ฯลฯ จะเห็นได้ว่า ภัยของโรคความดันโลหิตสูง ถือว่ารุนแรงหนักหนาสาหัสพอสมควร ถ้าเกิดภาวะแทรกซ้อนแล้ว การรักษาจะทำได้ไม่มากนัก ถ้าเกิดภาวะแทรกซ้อนแล้ว การรักษาจะทำได้ไม่มากนัก วิธีที่ดีที่สุดคือ การป้องกันโดยการรักษาแต่เนิ่น ๆ ยกเว้นแต่ว่า ตั้งใจจะฆ่าตัวตายนะครับ การที่จะรู้แต่เนิ่น ๆ ก็โดยตรวจความดันเป็นประจำโดยเฉพาะท่านที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน (ไม่อยากเรียกอ้วนให้กินใจกัน) มีประวัติญาติพี่น้องเป็น มีโรคอื่นอยู่แล้วเช่น เบาหวาน,ไขมันสูง,เก๊าท์ ดื่มสุรา,สูบบุหรี่เป็นประจำ ทำไปเถอะครับไม่เสียหลาย ขนาดรถยนต์ท่านยัง ตรวจ check ตามระยะตามกำหนดแถมทำประกันให้ด้วย เพื่ออะไรละครับ ก็เพื่อดูว่ามีอะไรบกพร่องจะได้ไม่ตายกลางทาง ยิ่งเครื่องบินยิ่งแล้ว ตรวจกันทุกเที่ยวบิน ขนาดนั้นก็ตกกันได้ ชีวิตเราสำคัญกว่า รถยนต์แยะครับ (เพราะถ้าท่านเป็นอะไรไป ก็ขับรถไม่ได้ดี)

การวินิจฉัยความดันสูง ต้องวินิจฉัยให้แน่นอนว่าสูงจริงหรือไม่ โดยการตรวจหลาย ๆ ครั้ง อาจจะถึง 3-4 ครั้ง แล้วเอาค่าเฉลี่ยว่ามากกว่า 140/90 หรือไม่ต้องตรวจสอบว่ามีโรคอื่นร่วมด้วยหรือไม่เพื่อพิจารณา – แนวทางและชนิดยาที่จะใช้ ,ต้องตรวจสอบว่ามีโรคแทรกซ้อนแล้วหรือยัง ส่วนใหญ่จะเน้นหัวใจ ไต สมอง เป็นหลัก การรักษาอันดับแรก ถ้าอ้วนต้องลดน้ำหนัก กินอาหารอ่อนเค็ม ไขมันต่ำ ออกกำลังกายพอสมควร งดเหล้า บุหรี่ หลีกเลี่ยงความเครียด, อดนอน ถ้าความดันยังไม่ลดลงตามเกณฑ์แพทย์ก็จะพิจารณา ให้ยาลดความดัน ซึ่งยาลดความดันมีหลายชนิดเพื่อเหมาะสมกับความรุนแรง, ระยะเวลา, อายุ หรือโรคที่เป็นร่วมกับความดันโลหิตสูง เช่น คนหนุ่มกับคนสูงอายุ, ความดันสูงเฉย ๆ กับความดันร่วมกับเบาหวาน โรคไต โรคเก๊าท์ นอกจากเลือกยาด้วยสาเหตุผลดังกล่าวแล้ว ยาลดความดันที่ดี ควรจะมีคุณสมบัติดังนี้ (เพราะโรคความดันเป็นโรคไม่หายขาดอาจจะต้องกินเวลาตลอดชีวิต)

1.ราคาไม่แพง (ถ้าถูกได้ก็ดี แต่ของดีราคาถูกมีน้อยจริง ๆ ครับ)
2.อาการข้างเคียงน้อยไม่ใช่กินแล้วเพลีย, วิงเวียน, ง่วง
3.กินวันละน้อย ๆ ครั้ง เพราะต้องกินนาน และคนไข้บางคนต้องกินยาหลายตัว จะได้กินง่าย ไม่ลืม และไม่ขี้เกียจกิน เช่น วันละ ครั้ง หรืออย่างมาก เช้า + เย็น เป็นต้น
4.มีผลเสริมอื่นๆเช่น ลดหัวใจ, รักษาหน้าที่ไต ป้องกันเส้นเลือดหน้าตัว
5.ไม่เกิดปฏิกิริยา เมื่อกินกับยาตัวอื่น เช่นยาเบาหวาน, ยาลดไขมัน ยาหัวใจ, ฯลฯ

จะเห็นได้ว่า โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคเรื้อรัง และสำคัญต่อชีวิตเป็นอย่างมาก ราละเอียดค่อนข้างจะซับซ้อน แต่อ่านแล้วไม่ต้องเครียดนะครับ ขอเพียงแต่ท่านหมั่นตรวจสอบ ไปตามหมอนัดทุกครั้งและปฏิบัติตัวตามที่แนะนำ หนักก็จะกลายเป็นเบาครับ หาหมอที่ถูกชะตาและไว้ใจกันซักคน (อายุรแพทย์) ไม่ต้องเปลี่ยนหมอบ่อย ๆ ยกเว้นขัดใจจริง ๆ เพราะการเปลี่ยนหมอจะทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง เนื่องจากอาจจะต้องปรับเปลี่ยนยา เพิ่มลดตามความเหมาะสม ที่สำคัญอย่าเครียดนะครับ ยิ่งยุคฝรั่งยึดเมืองแบบนี้ก็ต้องทำใจ ให้เห็นอนิจจังนะครับ มีข้นก็ต้องมีลงทุกอย่างเปลี่ยนไปตามธรรมชาติ และกาลเวลาเราต้องปรับตัวให้เข้ากับมัน ถึงจะอยู่ได้แบบดี ๆ (คือไม่บ้านั่นเอง)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น