วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2552

จันทบุรี


"น้ำตกลือเลื่อง เมืองผลไม้ พริกไทยพันธุ์ดี อัญมณีมากเหลือ เสื่อจันทบูร"


ข้อมูลทั่วไป

สมบูรณ์ธรรมชาติ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช รวมญาติกู้ชาติที่จันทบุรี
เมืองจันท์เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ ดินฟ้าอากาศเอื้ออำนวย ต่อการปลูกผลไม้ หลายชนิด โดยเฉพาะ ทุเรียน เงาะ มังคุด และพืชผลทางการเกษตรอื่น ๆ เช่น พริกไทย ยางพารา เป็นศูนย์กลางธุรกิจ ด้านอัญมณี และมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภูเขา ป่าไม้ น้ำตก ชายทะเล และโบราณสถาน โบราณวัตถุต่างๆ
จันทบุรีเป็นเมืองเก่าแก่ เคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีการสำรวจแหล่งโบราณคดีหลายแห่งในจันทบุรี พบเครื่องมือเครื่องใช้ยุคหินขัด (อายุประมาณ 2,000 ปี) ในเขตอำเภอมะขาม อำเภอท่าใหม่ และที่ราบเชิงเขาที่บ้านคลองบอน อำเภอโป่งน้ำร้อน เริ่มมีการตั้งเมืองครั้งแรกที่บริเวณหน้าเขาสระบาป ราวพุทธศตวรรษที่ 18 “ชาวชอง” (ชนเผ่าในตระกูลมอญ-เขมร) เป็นชนพื้นเมืองกลุ่มแรก ที่เข้ามาตั้งรกราก อยู่ในป่าตะวันออก บริเวณจันทบุรี ตราด ระยอง โดยเฉพาะเขตป่ารอยต่อจันทบุรี-ตราด ซึ่งเป็นแหล่งของป่า และสมุนไพรที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งรง ครั่ง ขี้ผึ้ง กระวาน ไม้กฤษณา หวาย จันท์ขาว อบเชยป่า ขมิ้นหอม น้ำมันยาง เร่ว ในสมัยก่อน ชาวชอง ดำรงชีพด้วยการเก็บของป่าขาย ปัจจุบันพื้นที่ป่าลดน้อยลง เพราะถูกหักร้าง เพื่อทำสวน ทำไร่ ถูกจับจองโดยคนไทยและคนจีน การเก็บของป่ากลายเป็นสิ่งผิดกฏหมาย นายพรานไพรต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต ไปเป็นแรงงานในเมือง หรือบางส่วนยังคงทำสวนทำนากันอยู่ (ปัจจุบันชาวชองส่วนใหญ่จะอยู่ที่บ้านคลองพลู กิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ)
พ.ศ. 2200 ได้ย้ายมาสร้างเมืองใหม่ที่บ้านลุ่มซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี และหลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งยังเป็นพระยาวชิรปราการ ได้นำกำลังพลประมาณ 500 คน ตีฝ่าวงล้อมพม่าออกทางทิศตะวันออก และยึดเมืองจันทบุรีไว้ เป็นเวลา 5 เดือน เพื่อเป็นแหล่งสะสมเสบียงอาหาร และรี้พล จากนั้นจึงนำกำลังพล ทั้งไทย-จีน จำนวน 5,000 คน กลับไปกอบกู้กรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2310 เหตุการณ์ดังกล่าว นับเป็นความภาคภูมิใจ ของชาวจันทบุรี ซึ่งเราสามารถเห็นได้จาก การที่มีโบราณสถาน และอนุสรณ์สถานหลายแห่ง ที่มีความเกี่ยวข้องหรือจัดสร้างขึ้น เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณ ของพระองค์ในครั้งนั้น
ต่อมาในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ย้ายเมืองไปตั้งที่บ้านเนินวง ซึ่งอยู่ในที่สูง เพื่อเป็นที่มั่นในการป้องกันการถูกรุกราน ของญวณ จนกระทั่งในสมัย พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมืองจันทบุรี ได้ย้ายกลับมาตั้งที่ บ้านลุ่ม ตามเดิม เนื่องจากบ้านเนินวง อยู่ไกลจากแหล่งน้ำ ในปี พ.ศ. 2436 เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส และฝรั่งเศสได้เข้ามายึดครองเมืองจันทบุรี ไว้นานถึง 11 ปี จนไทยต้องยอมยกดินแดนฝั่งซ้าย แม่น้ำโขง ให้กับฝรั่งเศส เพื่อแลกเมืองจันทบุรีกลับคืนมา
________________________________________

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อจังหวัดสระแก้ว ฉะเชิงเทรา และ ชลบุรี
ทิศใต้ ติดต่ออ่าวไทย
ทิศตะวันออก ติดต่อจังหวัดตราด และราชอาณาจักรกัมพูชา
ทิศตะวันตก ติดต่อจังหวัดระยอง
________________________________________


การปกครอง
ในปี พ.ศ. 2476 ได้มีการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินขึ้นใหม่ เมืองจันทบุรีจึงมีฐานะเป็นจังหวัด มาจนถึงปัจจุบัน จันทบุรีมีพื้นที่ประมาณ 6,338 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 10 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอท่าใหม่ อำเภอขลุง อำเภอแหลมสิงห์ อำเภอโป่งน้ำร้อน อำเภอมะขาม อำเภอสอยดาว อำเภอนายายอาม อำเภอแก่งหางแมว และอำเภอเขาคิชฌกูฏ

สถานที่ท่องเที่ยว : เส้นทาง อ.เมือง - แหลมสิงห์ - ขลุง

วัดเนินสูง

แยกขวาเข้าตรงกิโลเมตรที่ 338 ไปประมาณ 900 เมตร วัดนี้มีจิตรกรรม ฝาผนังเช่นเดียวกับวัดไผ่ล้อม
วัดมังกรบุปผาราม หรือวัด “เล่งฮัวยี่”
ในภาษาจีน ตั้งอยู่ริมถนนสุขุมวิท บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 345 ห่างจากตัวเมืองจันทบุรีประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นวัดจีนที่สงบและสวยงาม
น่าแวะไปเยี่ยมชม

อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว

ตั้งอยู่ในเขตเทือกเขาสระบาป อำเภอแหลมสิงห์ จากตัวเมืองขับรถออกมาที่ถนนสุขุมวิทตรงกิโลเมตรที่ 346 มีทางแยกซ้ายไปน้ำตกพลิ้ว 2 กิโลเมตร (สามารถใช้บริการรถสองแถวจันทบุรี-น้ำตกพริ้ว ค่าโดยสาร 20 บาท)
แหล่งทอเสื่อจันทบูรบ้านบางสระเก้า เสื่อจันทบูร
เป็นหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงของจังหวัดจันทบุรี ซึ่งผู้มาเที่ยวเมืองจันท์นิยมหาซื้อเพื่อเป็นของใช้ของฝาก กรรมวิธีการผลิตเริ่มจากเก็บต้นกกที่ปลูกไว้มาผ่าเป็นเส้นแล้วตากแดดให้แห้ง จากนั้นนำมาย้อมสีแล้วตากให้แห้งอีกครั้ง แล้วจึงนำมาทอเป็นผืนเสื่อให้มีลวดลายสวยงาม นอกจากนี้ยังมีการประดิษฐ์เป็นเครื่องใช้อื่น ๆ อีก เช่น กระเป๋า กล่องใส่กระดาษเช็ดมือ ที่รองจาน และที่ใส่จดหมาย เหมาะแก่การซื้อหาเป็นของฝาก หากจะไปชมวิธีการผลิตที่บ้านบางสระเก้า เดินทางจากตัวเมืองข้ามสะพานตรีรัตน์ไปยังถนนสุขุมวิท เลี้ยวขวาทางไปตราดประมาณ 8 กิโลเมตร จะมีทางแยกขวาไปบ้านบางสระเก้าเป็นระยะทางอีก 8 กิโลเมตร นอกจากบางสระเก้าแล้วยังมีแหล่งทอเสื่อกกอยู่ที่บ้านเสม็ดงาม และบ้านตะเคียนคู่ในเขตอำเภอเมืองอีกด้วย

คุกขี้ไก่

อยู่ก่อนถึงหาดแหลมสิงห์ราว 1 กิโลเมตร เป็นคุกที่ฝรั่งเศสสร้างขึ้นเพื่อกักขังคนไทยที่ต่อต้าน เมื่อครั้งฝรั่งเศสเข้ายึดจันทบุรีในกรณีพิพาทกันด้วยเรื่องดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง พ.ศ. 2436 (ร.ศ. 112) คุกขี้ไก่มีลักษณะเป็นหอสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวด้านละประมาณ 4.40 เมตร สูงประมาณ 7 เมตร ก่อด้วยอิฐถือปูน มีช่องระบายอากาศอยู่สองแถว หลังคาโปร่ง เล่ากันว่า เป็นคุกที่ทรมานมากเพราะชั้นบนใช้เป็นที่เลี้ยงไก่ ซึ่งจะถ่ายมูลรดศีรษะนักโทษที่ถูกคุมขังตลอดเวลา

ตึกแดง

ตั้งอยู่ใกล้กับคุกขี้ไก่ เดิมเป็นที่ตั้งของป้อมพิฆาตปัจจามิตร แต่ฝรั่งเศสดัดแปลงป้อมนี้ให้เป็นที่พักและกองบัญชาการทหารฝรั่งเศส ตึกแดงสร้างขึ้นพร้อมกับคุกขี้ไก่ เป็นตึกชั้นเดียว สีแดง หลังคามุงกระเบื้อง ปัจจุบันใช้เป็นห้องสมุดประชาชนอำเภอแหลมสิงห์

หาดแหลมสิงห์

ห่างจากตัวเมือง 31 กิโลเมตร โดยเดินทางไปตามถนนสุขุมวิท เส้นทางไปจังหวัดตราด ถึง กม. 347 มีทางแยกขวาไปหาดแหลมสิงห์อีก 16 กิโลเมตร เป็นชายหาดที่ร่มรื่นด้วยแนวสนซึ่งทอดยาวไปตลอดชายหาด ริมหาดมีร้านอาหาร และมีเรือให้เช่าไปเที่ยวเกาะจุฬา ซึ่งอยู่หน้าหาดแหลมสิงห์

โอเอซีส ซี เวิลด์

ตั้งอยู่ก่อนถึงหาดแหลมสิงห์ ที่ตำบลปากน้ำ อำเภอแหลมสิงห์ เป็นสถานที่เพาะพันธุ์และอนุรักษ์ปลาโลมาในน่านน้ำจันทบุรี ซึ่งมีอยู่ 2 พันธุ์ คือ พันธุ์หัวบาตร และพันธุ์หัวขวด มีการแสดงของปลาโลมาให้ชมวันละประมาณ 5 รอบ นอกจากนี้ยังมีสวนผีเสื้อ บ่อปลา และสัตว์ต่าง ๆ รวมทั้งร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก และที่พัก เปิดให้เข้าชมทุกวัน วันธรรมดาเวลา 09.00-18.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการเวลา 07.00-18.00 น. ค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 90 บาท เด็ก 50 บาท รายละเอียดเพิ่มเติม โทร. (039) 363238-9

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น