วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2552

พิษณุโลก


" พระพุทธชินราชงามเลิศ ถิ่นกำเนิดพระนเรศวร สองฝั่งน่านล้วนเรือนแพ หวานฉ่ำแท้กล้วยตาก ถ้ำและน้ำตกหลากตระการตา "

ข้อมูลทั่วไป

พิษณุโลก เป็นจังหวัดใหญ่ อยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่าง ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 377 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 10,815.854 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศมีภูเขาและที่ราบสลับป่าไม้ในเขตตะวันออก นอกนั้นเป็นที่ราบลุ่มอยู่โดยทั่วไป และมีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน 2 สาย คือ แม่น้ำน่าน และแม่น้ำยม
________________________________________


ประวัติและความเป็นมา :

พิษณุโลกเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สร้างเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 สมัยขอมมีอำนาจปกครองแถบนี้ แต่เดิมมีชื่อเรียกว่า “เมืองสองแคว” เนื่องจากเมืองนี้ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำน่าน และแม่น้ำแควน้อย (ที่ตั้งของวัดจุฬามณีในปัจจุบัน) ในสมัยสุโขทัย ครั้งสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท ได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองสองแควมาตั้งอยู่ ณ ที่ปัจจุบัน เมื่อประมาณปี พ.ศ. 1900 และยังเรียกว่าเมืองสองแควเรื่อยมา ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นพิษณุโลกในสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชกาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ เมื่อครั้งที่เสด็จมาประทับเมืองสองแควตั้งแต่ พ.ศ. 2006 จนสิ้นรัชกาลในปี พ.ศ. 2031
เมืองพิษณุโลกมีฐานะเป็นราชธานีแทนกรุงศรีอยุธยานานถึง 25 ปี ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ และเป็นเมืองลูกหลวง ซึ่งกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาส่งมหาอุปราช หรือพระราชโอรสมาครองเมือง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก็ทรงมีราชสมภพ ณ เมืองนี้ และได้ทรงครองเมืองนี้เช่นกัน
ในสมัยรัตนโกสินทร์ พิษณุโลกยังคงเป็นเมืองเอกขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ เรื่อยมา ครั้นถึงปี พ.ศ. 2437 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะเมืองพิษณุโลกขึ้นเป็นมณฑลเรียกว่า มณฑลพิษณุโลก ต่อมาเมื่อยกเลิกการปกครองแบบมณฑลแล้ว พิษณุโลกจึงมีฐานะเป็นจังหวัดเรื่อยมาจนปัจจุบัน
________________________________________


อาณาเขต :

ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดอุตรดิตถ์และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดพิจิตร
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดเลย
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดกำแพงเพชร
จังหวัดพิษณุโลกแบ่งการปกครองออกเป็น 9 อำเภอคือ อำเภอเมือง อำเภอวังทอง อำเภอพรหมพิราม อำเภอบางระกำ อำเภอบางกระทุ่ม อำเภอนครไทย อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอชาติตระการ อำเภอเนินมะปราง

สถานที่ท่องเที่ยว : อ.เมือง

วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือ วัดใหญ่

เป็นวัดสำคัญที่สุดของจังหวัดพิษณุโลก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออกริมถนนพุทธบูชา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง เป็นวัดหลวงชั้นเอก “วรมหาวิหาร” ภายในวิหารของวัดเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธชินราช” หรือที่ชาวเมืองพิษณุโลกเรียกว่า “หลวงพ่อใหญ่” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) โปรดให้สร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินสีห์ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดสุทัศน์เทพวราราม และพระศรีศาสดา ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหารพุทธลักษณะของพระพุทธชินราชนั้นสวยงามมาก เส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย พระขนงโก่ง พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิง พระหัตถ์มีปลายนิ้วทั้งสี่เสมอกัน ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษเรียกว่า ทีฒงฺคุลี ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในโลก มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาชมและสักการบูชาพระพุทธชินราชเป็นจำนวนมาก ทุก ๆ ปี จะมีงานนมัสการพระพุทธชินราชในวันขึ้น 6 ค่ำ ถึงวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 3 (ประมาณปลายเดือนมกราคม) เรียกว่า “งานวัดใหญ่”
ทางเข้าพระวิหารด้านหน้ามีบานประตูขนาดใหญ่ประดับมุกสวยงามสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2299 เป็นฝีมือช่างหลวงสมัยอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมโกศ
บริเวณหลังวิหารพระพุทธชินราช มีพระอัฏฐารส ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติสูง 18 ศอก สร้างในสมัยเดียวกับพระพุทธชินราช ราว พ.ศ. 1800 เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารใหญ่แต่วิหารได้พังไปจนหมด เหลือเพียงเสาที่ก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ 3-4 ต้น เรียกว่า “เนินวิหารเก้าห้อง”
ด้านหลังพระอัฏฐารส เป็นพระปรางค์ประธาน สร้างแบบสมัยอยุธยาตอนต้น ฐานย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ สันนิษฐานว่าเดิมเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ (ดอกบัวตูม) ซึ่งถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัยแท้ ต่อมาถูกแปลงให้เป็นพระปรางค์ในสมัยอยุธยา
นอกจากนี้ยังมี “พระเหลือ” ซึ่งพระยาลิไทรับสั่งให้ช่างนำเศษทองสัมฤทธิ์ที่เหลือจากการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา มารวมกันหล่อพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดเล็ก และพระสาวกยืนอีก 2 องค์ ประดิษฐานในวิหารน้อย เรียกยกว่า “วิหารพระเหลือ”

วัดราชบูรณะ

ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก ทางใต้ของวัดพระศรีมหาธาตุเล็กน้อย ตัวพระอุโบสถมีลักษณะพิเศษคือ เศียรนาคที่ชายคาเป็นนาค 3 เศียร มีลักษณะอ่อนช้อยงดงาม พิจารณาดูตามชื่อแล้ว วัดราชบูรณะน่าจะเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง เชื่อว่าเป็นสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ เนื่องจากทรงประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลกถึง 25 ปี และทรงมีบทบาททางบำรุงพระศาสนาที่พิษณุโลกมากที่สุด

วัดนางพญา

ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับวัดราชบูรณะ ถัดไปทางทิศตะวันออก มีลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยเดียวกับวัดราชบูรณะ ต่างกันที่วัดนางพญาไม่มีพระอุโบสถมีแต่วิหาร มีการพบกรุพระเครื่อง “นางพญา” ซึ่งมีชื่อเสียงของจังหวัดพิษณุโลกเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2444 และครั้งหลังเมื่อ พ.ศ. 2497

วัดอรัญญิก

ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน อยู่ห่างจากกำแพงเมืองประมาณ 1 กิโลเมตร บนถนนพญาเสือ ซึ่งแยกจากถนนเอกาทศรถ เป็นวัดที่สร้างในสมัยสุโขทัย สำหรับสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี วัดนี้มีคูน้ำล้อมรอบ ตามคติสมัยสุโขทัย ถมเป็นเนินสำหรับวิหาร ด้านหลังวิหารมีเจดีย์ใหญ่ทรงลังกาเป็นเจดีย์ประธาน และมีเจดีย์บริวารสี่องค์ แต่ปัจจุบันผุพังไปมาก

วัดเจดีย์ยอดทอง

ตั้งอยู่บนถนนพญาเสือ เช่นเดียวกับวัดอรัญญิก ปัจจุบันเหลือเพียงเจดีย์ทรงดอกบัวตูม ซึ่งเป็นศิลปะสมัยสุโขทัยเพียงองค์เดียวของจังหวัดที่สมบูรณ์ มีฐานกว้างประมาณ 9 เมตร สูง 20 เมตร

วัดวิหารทอง

เป็นวัดใหญ่ ตั้งอยู่ติดกับสำนักงานที่ดินจังหวัดพิษณุโลก ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน เยื้องกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเล็กน้อย ปัจจุบันเป็นวัดร้างเหลือแต่เนินฐานเจดีย์ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก และเสาศิลาแลงขนาดใหญ่ประมาณ 7 ต้น เดิมเป็นที่ประดิษฐานพระอัฏฐารสซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดสระเกศ

วัดจุฬามณี

ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกไปตามทางถนนบรมไตรโลกนารถ ประมาณ 5 ก.ม. วัดจุฬามณีเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดของจังหวัด เคยเป็นที่ตั้งของเมืองพิษณุโลกเดิม ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงสร้างพระวิหารและเสด็จออกผนวชที่วัดนี้ เมื่อ พ.ศ. 2007 เป็นเวลา 8 เดือน 15 วัน โดยมีข้าราชบริพาร ออกบวชตามเสด็จถึง 2,348 รูป
วัดนี้มีโบราณสถานสำคัญคือ มณฑปพระพุทธบาทจำลองและศิลาจารึก ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้โปรดสร้างขึ้นในแผ่นจารึกมีใจความสรุปได้ว่า เมื่อ พ.ศ. 2221 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงมีพระบรมราชโองการให้ใช้ผ้าทาบรอยพระพุทธบาท สลักลงบนแผ่นหิน พระราชทานไว้เป็นที่กราบไหว้ของฝูงชน นอกจากนี้ยังมีสิ่งสำคัญที่มีค่าสูงทางศิลปะ คือ ปรางค์แบบขอม ขนาดเล็ก ฐานกว้าง 11 เมตร ยาว 18 เมตร ก่อด้วยศิลาแลง ปั้นปูนประดับลวดลายเป็นรูปหงส์สวยงามมาก

ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมข้างศาลากลางจังหวัด เดิมคือพระราชวังจันทน์ ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภายในศาลประดิษฐานรูปหล่อของพระองค์ขณะทรงหลั่งน้ำประทักษิโณทก ประกาศอิสรภาพกรุงศรีอยุธยา กรมศิลปากรดำเนินการสร้าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเปิดศาลนี้เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2504 ทางจังหวัดพิษณุโลกจึงถือเอาวันที่ 25 มกราคมของทุกปี เป็นวันจัดงานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ศาลนี้เป็นที่เคารพนับถือของชาวพิษณุโลกเป็นอย่างมาก นักท่องเที่ยวควรแวะชมและสักการะ

พระราชวังจันทน์
พระราชวังจันทน์เป็นสถานที่พระราชสมภพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2535 กรมศิลปากรได้ขุดค้นพบแนวเขตพระราชฐานพระราชวังจันทน์ในบริเวณโรงเรียน ซึ่งนับว่าเป็นการขุดค้นทางโบราณคดีและทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของจังหวัด ในปัจจุบันทางกรมศิลปากรได้กลบหลุมขุดค้นบางส่วนเพื่อเป็นการอนุรักษ์โบราณสถานไว้จนกว่าจะมีการขุดค้นอย่างจริงจังอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ยังมีโบราณสถานบางส่วนที่ยังไม่ได้กลบไว้ให้ผู้สนใจได้ชมและศึกษาต่อไป

สระสองห้อง

อยู่ทางด้านตะวันตกของพระราชวังจันทน์นอกกำแพง ปัจจุบันอยู่นอกรั้วของโรงเรียนพิษณุโลก พิทยาคม เดิมชาวบ้านเรียกว่า “หนองสองห้อง” เป็นที่ประทับสำราญพระทัยของพระมหากษัตริย์ที่มาประทับ ณ พระราชวังจันทน์
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าสิบเอก ดร. ทวี-พิมพ์ บูรณเขตต์
ตั้งอยู่ตรงข้างกับโรงหล่อพระบูรณะไทย ถนนวิสุทธิกษัตริย์ อำเภอเมืองพิษณุโลก เป็นที่เก็บรวบรวมศิลปะพื้นบ้าน ตั้งแต่ชิ้นเล็ก ๆ จนถึงชิ้นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักสาน เครื่องปั้นดินเผา เครื่องใช้ในครัวโบราณ และเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น เครื่องวิดน้ำด้วยมือ เครื่องสีข้าว เครื่องดักสัตว์ ตลอดจนเครื่องมือในการจับหนูและแมลงสาบ
จ่าสิบเอก ดร. ทวี บูรณเขตต์ ได้รับการยกย่องว่าเป็น “คนดีศรีพิษณุโลก” คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติยกย่องให้เป็น “บุคคลดีเด่นทางวัฒนธรรมสาขาการช่างฝีมือ” ประจำปี 2526 และสภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ สาขาศิลปะ เมื่อปี พ.ศ. 2527 เนื่องจากเป็นผู้ที่มีฝีมือในทางประติมากรรม และเป็นผู้อนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้านโดยเฉพาะศิลปะของล้านนาไทยไว้มากที่สุด
พิพิธภัณฑ์นี้ เปิดให้เข้าชมทุกวันโดยไม่เก็บค่าเข้าชม ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ โทร. (055) 252-121

กำแพงเมืองคูเมือง

กำแพงเมืองพิษณุโลกแต่เดิมเป็นกำแพงดินเช่นเดียวกับกำแพงเมืองสุโขทัย คาดว่าสร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถเพื่อเตรียมรับศึกพระเจ้าติโลกราชแห่งราชอาณาจักรลานนา และต่อมาในรัชการสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ได้โปรดให้ซ่อมแซมกำแพงเมืองอีกครั้งเพื่อเตรียมรับศึกพม่า พอถึงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้โปรดให้ช่างฝรั่งเศสสร้างกำแพงใหม่โดยก่ออิฐให้แข็งแรงยิ่งขึ้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้รื้อกำแพงเมืองและป้อมต่าง ๆ เสีย เพื่อไม่ให้พม่าซึ่งรุกรานไทยยึดเป็นที่มั่น ฉะนั้น ในปัจจุบันจึงเหลือเพียงกำแพงดินบางจุด ที่เห็นได้ชัดในขณะนี้คือบริเวณวัดโพธิญาณซึ่งอยู่ทางเหนือใกล้ ๆ ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช บริเวณวัดน้อย ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกใกล้ทางรถไฟ และบริเวณสถานีตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก
สำหรับคูเมืองที่เห็นได้ชัดคือ แนวที่ขนานกับถนนพระร่วง ทางด้านตะวันตกขนาดกว้างประมาณ 12 เมตร ซึ่งได้มีการขุดลอกเพื่อมิให้ตื้นเขินอยู่เสมอ


เรือนแพ

เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของพิษณุโลก บริเวณสองฝั่งแม่น้ำน่านในเขตอำเภอเมืองพิษณุโลกมีเรือนแพตั้งเรียงรายไปตามลำน้ำจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ ชีวิตชาวแพเป็นชีวิตที่เรียบง่าย นักทัศนาจรนิยมถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกเพราะเป็นภาพที่หาดูไม่ได้ง่ายนัก

มะขามยักษ์

มีอายุประมาณ 700 ปี อยู่ที่ตำบลบ้านกอกจากตัวเมืองใช้เส้นทางไปนครสวรรค์เลี้ยวซ้าย ตรงคอสะพานข้ามแม่น้ำน่านไปประมาณ 700 เมตร อยู่ในบริเวณที่ดินของคุณยายไสว ภู่เพ็ง ตามประวัติกล่าวว่าเดิมบริเวณนี้เป็นป่าพง วันหนึ่งมีช้างเชือกหนึ่งหลุดเข้ามาอาศัยอยู่รอบ ๆ ต้นมะขาม ไม่ยอมห่าง เจ้าของต้องใช้กำลังอย่างมากจึงสามารถนำช้างกลับไปได้ ไม่นานช้างนั้นก็ตายในลักษณะยืนตาย ต่อมาบริเวณโคนต้นมะขามนั้นเกิดมีตะปุ่มตะป่ำงอกขึ้นมาจนเป็นรูปหัวช้าง พร้อมทั้งมีรากงอกเป็นรูปงวงและงาช้าง ซึ่งได้ผุกร่อนจนไม่อาจมองเห็นรูปร่างหัวช้างได้อีก อย่างไรก็ตาม ต้นมะขามนี้แผ่กิ่งก้านสาขาใหญ่โตให้ความร่มรื่นอย่างมาก และที่คบกิ่งด้านเหนือจะมีกล้วยไม้ติดอยู่ซึ่งจะมีดอกในเดือนหกทุกปี ฉะนั้นชาวบ้านจึงทำบุญกันในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี มีมหรสพลิเกแสดงด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น